ถอดบทเรียนจากหนังสือเรียนที่ตนต่อต้าน
หนังสือเรียนเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นสื่อที่มีความสะดวก โรงเรียนสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงกับทางสำนักพิมพ์ ปัจจุบันหลาย ๆ สำนักพิมพ์มีการออกแบบแผนการสอนให้กับครูด้วย เพิ่มความสะดวกในการเรียนการสอนมากขึ้นไปอีก แต่หนังสือเรียนที่หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นหนังสือที่มีความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดกลับมีเรื่องที่ชาวเน็ตใช้คำว่า “แหก” ทัศนคติบ้ง ๆ ในหนังสือเรียนแทน
ตัวอย่างความบ้งในหนังสือเรียนที่ได้รับการพูดถึง
คำว่าบ้งเป็นภาษาพูดที่ใช้เรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามจริต มีแนวคิดที่ผิดเพี้ยนและไม่อยู่บนพื้นฐานที่ควรเป็น หนังสือเรียนที่บ้งจึงเป็นหนังสือเรียนที่มีความแปลกของเนื้อหาและอาจจะมีเนื้อหาผิดเพี้ยน เช่น
- ขนมจีนกับการแต่งตัวไม่เหมาะสม
โจทย์ข้อหนึ่งในหนังสือเรียนพระพุทธศาสนาถามเกี่ยวกับการแต่งกายของอดีตนักร้อง Kamikaze ขนมจีน กุลมาศ เจ้าของเพลงร็อคของคนแอบรักอย่างเพลงตามใจปาก ซึ่งภาพที่นำมาใช้ก็เป็นภาพปกอัลบั้มที่อยู่ในเสื้อยืดสีขาว กางเกงแล็กกิ้งสีดำ กรีดสโมกกี้อาย แต่เฉลยของหนังสือกลับบอกว่าการแต่งกายเช่นนี้ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลว่าเป็นการแต่งกายแบบตะวันตก ปัจจุบันมีการเปลี่ยนภาพและแก้เฉลยแล้ว
- เสือร้องโฮกปิ๊บ
บทกลอนวัยเด็กที่ไม่ได้คิดอะไร แต่ตอนนี้พอกลับมาอ่านหลายคนต้องงง เมื่อมีท่อนหนึ่งในบทกลอนเขียนว่าเสือร้องโฮกปิ๊บ ที่หลายคนมองว่าเสือพันธุ์อะไรร้องโฮกปิ๊บ และโฮกปิ๊บมันมาจากไหนกัน
- ทำความเคารพก่อนเขียนเรื่องราชวงศ์
คำสั่งของแบบฝึกหัดนี้คือเติมหมายเลขหน้ารูปพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก่อนทำจะต้องทำความเคารพก่อนจนหลายคนสงสัยว่าการทำความเคารพก่อนช่วยในประเด็นอะไร แต่เมื่อเหลือบมองตัวชี้วัดก็ถึงบางอ้อ เพราะเป็นคำสั่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเอาไว้นั่นเอง
- ข้อสอบตีกรอบนักเรียน
ประเด็นร้อนในปัจจุบันที่จะต้องได้รับการพูดถึงอย่างข้อสอบเด็ก ป.1 ที่เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจและเรื่องเพศกับคำถามที่ว่าใครปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับเพศตัวเองมากที่สุด และตัวเลือก 3 ตัวเลือกจะมีทั้งการทำอาหาร การชกต่อย และการแต่งหน้า โดยเน้นการใช้ชื่อให้เด็กรู้ว่าเป็นเพศอะไร แต่ก็เป็นคำถามที่ไม่ควรถามอยู่ดี
ความบ้งของหนังสือเรียนอาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการสอดส่องเนื้อหาในหนังสือเรียนอยู่เสมอจะช่วยให้เกิดการพัฒนาของหนังสือเรียนได้เป็นอย่างดีในอนาคต

วิเคราะห์สาเหตุความบ้งที่เกิดขึ้น
เมื่อหนังสือเรียนมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เราจึงมาดูกันว่าอะไรที่ทำให้หนังสือเรียนมีความบ้ง สามารถพิจารณาได้ว่าเกิดจากสาเหตุเหล่านี้
- เรียบเรียงจากต้นฉบับเก่า
หนังสือบางเล่มเรียบเรียงจากหนังสือเก่าหรือต้นฉบับเก่า ทำให้ไม่ทันโลกที่หมุนไปในปัจจุบัน เมื่อมีการตรวจสอบหรือมีผู้ปกครองอ่านเจอจึงเกิดคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือเรียน
- การตรวจทานไม่แน่นหนาพอ
โดยปกติกระทรวงศึกษาธิการจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจทานหนังสือโดยเฉพาะ ซึ่งบางครั้งจำนวนบุคลากรอาจจะไม่เพียงพอ หรือการมุ่งเน้นตัวชี้วัดโดยไม่คำนึงถึงการใช้งานจริงก็อาจจะเป็นส่วนให้หนังสือเรียนมีเนื้อหาที่แปลกได้
- การคิดที่ไม่รอบด้านก่อนทำหนังสือ
แบบฝึกหัด ข้อสอบ และการเรียบเรียงเนื้อหาบางครั้งอาจจะคิดว่าดีที่สุดในช่วงเวลานั้น ไม่แน่ว่าคนเขียนเองเมื่อกลับมาอ่านหนังสือตัวเองในตอนนี้อาจจะไม่ชอบใจเหมือนคนอื่น ๆ ก็ได้
หนังสือเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะด้านเนื้อหาที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะหากหนังสือเรียนเชื่อถือไม่ได้ก้จะเป็นเหมือนการวางยานักเรียนให้นักเรียนมีความรู้ที่ผิดหรือทัศนคติที่ไม่เหมาะสม เหมือนก้อนมะเร็งที่ค่อย ๆ บ่มเพาะความน่ากลัวในตัวผู้เรียน และไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะมีประกันมะเร็งในการรับมือเรื่องราวเหล่านี้